เกี่ยวกับบริษัท > กิจกรรมเพื่อสังคม
แหล่งข้อมูลสำหรับสื่อมวลชน > ข่าวประชาสัมพันธ์
ซัมซุง ร่วมเป็นกำลังสำคัญก้าวข้ามกำแพงแห่งการเรียนรู้ หนุนผู้พิการทางสายตาเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล
ปัจจุบันสมาร์ทโฟนถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีพของผู้คน โดยโทรศัพท์ปุ่มกดได้ลดจำนวนน้อยลงไปทุกที พร้อมกับการเข้ามาแทนที่โดยสมาร์ทโฟนระบบสัมผัสหน้าจอ นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งสำคัญของเหล่าผู้พิการทางสายตา ที่ต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสารเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไป บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จึงได้มอบสมาร์ทโฟนซัมซุง ให้แก่สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ภายใต้มูลนิธิคนตาบอดไทย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการอบรมการใช้สมาร์ทโฟนให้กับผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ฟังก์ชั่นของสมาร์ทโฟนอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน
นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น สมาร์ทโฟนยังเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และช่วยเปิดโลกของเราให้กว้างไปกว่าที่เคยได้รับรู้และสัมผัส และไม่ใช่เพียงคนทั่วไปเท่านั้นที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนได้ ผู้พิการทางสายตาก็สามารถใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน โดยผ่านฟีเจอร์ Accessibility หรือ “การช่วยเหลือสำหรับการเข้าถึง” ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นที่ช่วยอ่านสิ่งที่อยู่บนหน้าจอ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและลดความผิดพลาดในการสัมผัสจอ ทั้งยังช่วยให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ อำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงแอพพลิเคชั่นด้านการศึกษาหรือเอนเตอร์เทนเมนต์ต่างๆ การรับส่งข้อมูลผ่านทางอีเมล บริการธุรกรรมการเงินออนไลน์ บริการเดลิเวอรี่ และอื่นๆ อีกมากมาย นั่นคือเหตุผลที่ซัมซุงสนับสนุนให้เกิดการอบรมการใช้สมาร์ทโฟนสำหรับผู้พิการทางสายตา ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนด้วยนวัตกรรมของเรา”
ปัจจุบัน สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ภายใต้มูลนิธิคนตาบอดไทย ได้จัดอบรมการใช้สมาร์ทโฟนให้กับผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศไทยเฉลี่ยเดือนละหนึ่งครั้ง และเนื่องจากการอบรมค่อนข้างเฉพาะทาง คนที่มีความรู้ในการอบรมจึงมีไม่มากนัก ดังนั้นในแต่ละขั้นตอนของการอบรมจึงใช้เวลาประมาณสามถึงห้าวัน ผู้เข้ารับการอบรมในขั้นเบื้องต้นจึงจะสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนขั้นพื้นฐานได้
นายจตุพล หนูท่าทอง หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนตาบอด มูลนิธิคนตาบอดไทย ผู้รับบทบาทเป็นวิทยากรในการดำเนินกิจกรรมอบรมการใช้สมาร์ทโฟนกล่าวว่า “สิ่งที่ยากที่สุดในการอบรมคือความแตกต่าง อย่างแรกคือความแตกต่างในเรื่องความรู้พื้นฐาน บางคนพอมีความรู้เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนบ้าง แต่บางคนไม่มีเลย สิ่งที่สองคือความแตกต่างด้านอุปกรณ์ ผู้พิการทางสายตาบางคนไม่มีอะไรติดตัวมาเลย เพราะไม่กล้าซื้อสมาร์ทโฟน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้หรือไม่ ส่วนคนที่มีและนำของส่วนตัวมาอบรมนั้น สมาร์ทโฟนที่นำมาก็มีรุ่นที่แตกต่างกันไป ซึ่งทำให้การอบรมเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นมีฟังก์ชั่นและวิธีการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน การสนับสนุนสมาร์ทโฟนของซัมซุง ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการช่วยลดอุปสรรคในการเรียนรู้ให้กับเหล่าผู้พิการทางสายตา และทางสถาบันฯ ก็ยินดีที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคต่างๆ ที่ต้องการจัดการอบรมในลักษณะเดียวกันนี้สามารถติดต่อยืมสมาร์ทโฟนเพื่อนำไปใช้ได้เลย เพื่อช่วยให้การอบรมเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ”
“หลังจากที่เราอบรมคอร์สพื้นฐานไป พบว่า ผู้พิการทางสายตาเริ่มเปลี่ยนใจหันมาใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ความกลัวในการสัมผัสโทรศัพท์ที่ไม่มีปุ่มกดค่อยๆหายไป จากนั้นจึงเริ่มมีการเรียกร้องให้มีการจัดคอร์สอบรมขั้นสูง นอกเหนือไปจากการโทรเข้า-โทรออก ไปสู่การดาวน์โหลดเพลง การรับชมวิดีโอและเสียงผ่าน Youtube และเล่นโซเชียลมีเดีย อย่างไลน์และเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้พิการเองก็จะได้รับข้อมูลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ได้สื่อสารกัน ได้เปิดโลกให้กับตัวเอง โดยมีอุปกรณ์พวกนี้เข้ามาช่วย” นายจตุพลกล่าวเสริม
การที่เหล่าผู้พิการทางสายตาได้ทำลายกำแพงของความกลัวและก้าวเข้ามาสู่โลกดิจิทัล นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชีวิตที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟน ด้วยตัวช่วยของ สมาร์ทโฟนที่ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การติดต่อสื่อสาร แต่ยังสามารถอำนวยความสะดวกแก่พวกเขาด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสามารถอ่านข้อความที่ปรากฏบนหน้าจอโทรศัพท์ได้อย่างครบถ้วน อย่างข้อมูลความรู้ในเว็บไซต์ต่างๆ เมนูอาหาร หรือฉลากของใช้ในชีวิตประจำวัน
“ดังนั้นเราจึงต้องทำให้ผู้พิการทางสายตาเปลี่ยนหันมาใช้สมาร์ทโฟนให้ได้ เพราะต่อไปหากไม่มีโทรศัพท์ที่มีปุ่มกดแล้ว หรือมีแต่น้อยลง ผู้พิการทางสายตาก็จะมีทางเลือกน้อยลง เราก็ต้องพยายามเตรียมพร้อมให้เขาได้เรียนรู้ให้ได้มากที่สุด” นายจตุพลกล่าวทิ้งท้าย
บรรยากาศการอบรมการใช้สมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์เป็นไปอย่างสนุกสนาน โดยได้มีการสอนผู้พิการทางสายตาให้ใช้ระบบ Google Assistant ในการใช้งานสมาร์ทโฟนซัมซุง ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น การขึ้นบีทีเอสหรือรถโดยสารประจำทาง การเล่นเกมส์ หรือการพยากรณ์อากาศ
นายณัฐพงษ์ ลีเลิศชายมนตรี ทำงานในสภากาชาด และเป็นฟรีแลนซ์ให้กับธนาคารแห่งหนึ่ง เขาคือหนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมการใช้สมาร์ทโฟนที่สถาบันฯ ได้จัดขึ้น โดยคุณณัฐพงษ์เล่าว่า ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เป็นครั้งที่สองแล้ว และเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนของซัมซุงในในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล หรือจัดการเอกสาร ช่วยให้ทำงานนอกบ้านได้อย่างสะดวกสบาย
นางสาวฐิติกาญ สุนทรวิรุฬโรฒ ผู้พิการทางสายตา ที่รับบทบาทเป็นผู้ถ่ายทอดสดการอบรมในครั้งนี้ให้กับเหล่าผู้พิการทางสายตาทางบ้านฟังผ่านเฟซบุ๊ค เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ารับการอบรมการใช้สมาร์ทโฟนมาเป็นเวลานานราวหกปี โดยครั้งแรกที่เรียน เธอเริ่มต้นเรียนตั้งแต่เวลาหกโมงเย็นจนถึงห้าทุ่ม “จากเดิมทุกอย่างที่คนตาบอดใช้ จะเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ พอเปลี่ยนมาเป็นสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นจอเรียบก็ต้องใช้ความเคยชินอยู่สักพัก แรกๆ ก็จะไม่อยากเล่น แต่เมื่อยอมรับได้ เราก็ต่อยอดไปเรื่อยๆและเริ่มสนุก จากนั้นก็มองหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้แบบเรียลไทม์ ซึ่งทำให้สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้มากกว่าเดิม เทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างตัวช่วยสำหรับคนตาบอดนั้น จากเดิมมีเพียงแค่ในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันมีในไทยมากขึ้น เราเองก็อยากส่งต่อโอกาสในการเรียนรู้ไปให้คนอื่นๆ เช่นกัน” คุณฐิติกาญกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการอบรม ซัมซุงได้เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาสมาร์ทโฟนให้ตอบสนองต่อทุกการใช้งานอย่างดีที่สุดต่อไป
พบปัญหาด้านการบริการ ติดต่อ samsung.com/th/support สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ nawanuch.s@samsung.com