เกี่ยวกับบริษัท > กิจกรรมเพื่อสังคม

แหล่งข้อมูลสำหรับสื่อมวลชน > ข่าวประชาสัมพันธ์

ซัมซุงจัดเวิร์กชอปออนไลน์ “เสริมเทคนิค Coaching สอน Coding ให้อยู่มือ” พัฒนาทักษะดิจิทัลเด็กไทยในภาคการศึกษาใหม่

14-05-2021
แบ่งปันข่าวสาร

 

บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Samsung Innovation Campus – Coding for Teachers เสริมเทคนิค Coaching สอน Coding ให้อยู่มือ” เดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องโค้ดดิ้ง และ Computational Thinking มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของครูไทยเพื่อให้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากครูผู้สอนวิชาวิทยาการคำนวณระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กว่า 517 โรงเรียนทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และมีตัวแทนคุณครูทั้งหมด 60 คนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการอบรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 และ 9 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

 

นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Innovation Campus เผยว่า “จากการดำเนินโครงการฯ และจัดอบรมโค้ดดิ้งให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษามาตั้งแต่ปี 2562 พบว่า มีเสียงเรียกร้องจากคุณครูจำนวนมากที่ต้องการให้ซัมซุงจัดอบรมเพื่อแนะแนวทางการสอนโค้ดดิ้งให้กับกลุ่มคุณครูที่สอนวิชาวิทยาการคำนวณด้วยเช่นกัน เนื่องจากโค้ดดิ้งเป็นเนื้อหาใหม่ที่เพิ่งประกาศให้เด็กนักเรียนในศตวรรษปัจจุบันจำเป็นต้องเรียน คุณครูจึงต้องการแนวทางและเทคนิคในการจัดกระบวนการเรียนรู้และออกแบบกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนเข้าใจคอนเซปต์ของการเรียนโค้ดดิ้งและสามารถเขียนโปรแกรมคำสั่งอย่างง่ายได้”

 

 

เพื่อให้คุณครูสัมฤทธิ์ผลในการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ ซัมซุงจึงได้ชวนคุณครูเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ Samsung Innovation Campus – Coding for Teachers เสริมเทคนิค Coaching สอน Coding ให้อยู่มือ ซึ่งจัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแบ่งเนื้อหาการอบรมออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย

 

1) Abstraction เรียนรู้คอนเซปต์ของการคิดเชิงนามธรรม สามารถยกตัวอย่างและอธิบายต่อยอดในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนมองเห็นประโยชน์ของการใช้วิธีคิดเชิงคำนวณในชีวิตประจำวัน

2) History of Computing เข้าใจที่มา ความสัมพันธ์ และพัฒนาการของคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เข้าใจความเชื่อมโยงบทเรียนวิทยาการคำนวณในเนื้อหาที่แตกต่าง

3) Python Programming เรียนรู้พื้นฐานการโค้ดด้วยภาษาไพธอน และสามารถนำไปอธิบายต่อให้เข้าใจง่าย

4) Experience Activity Planner ฝึกออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบ Active Learning และใช้หลักสูตรการอบรมวางแผนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ 20 สัปดาห์ (1 เทอม)

 

 

 

นายฐาปนพงศ์  สิงจานุสงค์ ครูโรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า “การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Samsung Innovation Campus – Coding for Teachers โดยเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning มีประโยชน์และตอบโจทย์ครูทุกคนเป็นอย่างมาก ทำให้ครูได้เรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้เทคนิคเสริมเกี่ยวกับการโค้ดภาษาไพธอน ซึ่งจะทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนโค้ดดิ้งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งในขณะที่สอนในห้องเรียนปกติและในช่วงที่ต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ หากเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้ครูผู้สอนท่านอื่นก็จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในโรงเรียนในลำดับต่อไป

 

 

ทางด้านนายจักรพงศ์ สร้างสวน ครูโรงเรียนชุมชนบ้านคลองพลู (วิศิษฐ์วิทยาทาน) จ.ชลบุรี กล่าวว่า “การประยุกต์ใช้ความรู้ในการเขียนภาษาไพธอนนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเด็กชั้นมัธยมต้น การจัดอบรมนี้ไม่ใช่แค่ให้ความรู้แก่ครูเท่านั้น แต่รวมถึงการให้แนวทางและวิธีการต่างๆ ในการนำไปสอนนักเรียนได้จริงในห้องเรียน ถือว่าเป็นโครงการที่ได้ทั้งความรู้ ความสนุกสนานและยังได้รับประโยชน์มากมาย จึงอยากเชิญชวนครูทั่วประเทศได้มาเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ด้วยกันในครั้งหน้า”

 

“การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Coding for Teachers นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของโครงการ Samsung Innovation Campus ที่มุ่งสนับสนุนศักยภาพครูผู้สอนวิชาวิทยาการคำนวณ ให้มีวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องโค้ดดิ้ง และมีทักษะโค้ชชิ่ง เพื่อจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนอย่างได้ผล ซึ่งการติดอาวุธให้คุณครูก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนรุ่นต่อรุ่น นอกเหนือจากการอบรมในครั้งนี้แล้ว ซัมซุงยังวางแผนที่จะขยายผลการดำเนินโครงการสู่การจัดกิจกรรมโค้ดดิ้งให้กับนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงจัดกิจกรรมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อจุดประกายความสนใจและเพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนไทยต่อไป” นายวาริท กล่าวปิดท้าย

พบปัญหาด้านการบริการ ติดต่อ samsung.com/th/support
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ nawanuch.s@samsung.com

แผนผังเว็บไซต์

กลับสู่ด้านบน